Tuesday, October 21, 2008

โครงการดินกระดาษ (Paper Soiled)




หลักการและเหตุผล
วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว เด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือ ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และกระบวนการเรียนรู้ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ความสุข สนุกสนาน ตื่นเต้น ประทับใจ การเล่นที่แฝงความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ก็คือกิจกรรมศิลปะ เช่น การวาดภาพระบายสี การประดิษฐ์เศษวัสดุ รวมถึงกิจกรรมการปั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กไทย เด็กชอบเล่นปั้นด้วยวัสดุที่มีอยู่ทั่วไป เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ขี้ผึ้ง ขี้เลื่อย กระดาษ แป้งโด เป็นต้น แป้งโดเป็นวัสดุที่เด็กชอบมากเพราะอ่อนนิ่ม ง่ายต่อการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับเด็กปฐมวัย (รายละเอียดแป้งโดดูจากภาคผนวก) และกระดาษเก่าๆ หรือวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวก็สามารถนำมาทำศิลปะได้หรือที่เรียกว่า เปเปอร์มาเช่ (Paper Mache) คือ การนำกระดาษที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และผ่านการแช่น้ำจนเปื่อยแล้วมาปิดลงบนแบบที่เตรียมไว้ ปิดหลายๆ ชั้น แต่ละชั้นจะทากาวไว้และจะต้องรอให้กาวแห้งก่อน แต่งผิวให้เรียบร้อย เสร็จแล้วจึงตกแต่งด้วยสี (www.CityVariety.com) ซึ่งมีต้นกำเนิดในทวีปเอเชียและต่อมาได้แพร่หลายในทวีปยุโรป ส่วนใหญ่จะนำมาทำเป็นของเล่น หน้ากาก ถาด และส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและของใช้ (www.geocities.com/papers3d/what_papier) เป็นงานศิลปะที่สามารถสร้างผลงานตามจินตนาการของตัวเองได้โดยไม่ซ้ำแบบใคร สามารถทำได้หลายรูปแบบและทำได้ง่าย วัสดุที่ใช้ก็หาได้ง่ายและราคาถูก แทนที่จะนำกระดาษที่ใช้แล้วทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าการประยุกต์ให้เศษวัสดุใกล้ตัว ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดความภาคภูมิใจต่อผลงานของตนเอง
นักศึกษา สาขาการศึกษาปฐมวัยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดตั้งโครงการดินกระดาษ เป็นการผสมผสานระหว่างการปั้นแป้งโดกับเปเปอร์มาเช่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ สามารถทำได้ด้วยตนเอง เด็กและครูมีส่วนร่วมในการสร้างผลงาน เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู และเป็นการลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน รู้จักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

วัตถุประสงค์
1. เพื่อลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน
2. เพื่อส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าและความสำคัญ รวมทั้งรู้จักรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3. เพื่อส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
4. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ครู และผู้ปกครอง

เป้าหมาย
เชิงปริมาณ ผลงาน/ผลิตภัณฑ์จากดินกระดาษ ของเด็กอนุบาล 1/3 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เชิงคุณภาพ เด็กเห็นคุณค่าของเศษวัสดุเหลือใช้และรู้จักรักษาธรรมชาติ เกิดความคิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็ก ครู และผู้ปกครอง

ขั้นตอนวิธีการดำเนินงาน
1. วางแผนและกำหนดหัวข้อการจัดทำโครงการ
2. นำเสนอโครงการต่อผู้บริหารโรงเรียน
3. ประชุมร่วมกับผู้บริหารและครูประจำชั้นในการดำเนินโครงการ เพื่อจัดเตรียมสถานที่และวัสดุ/อุปกรณ์
4. จัดกิจกรรมตามขั้นตอน ดังนี้
4.1 จัดเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ที่ได้จากของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน

4.2 การนำวัสดุอุปกรณ์มาผสมตามวิธีการทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งดินกระดาษ
4.3 การสร้างผลงานจากดินกระดาษของเด็ก ครู และผู้ปกครอง
5. สรุปและประเมินผลโครงการ

สถานที่ดำเนินการ
ห้องอนุบาล 1/3 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ เดือนกันยายน พ.ศ. 2551

งบประมาณ
1. ค่าวัสดุทำกาวแป้งเปียก
- แป้งข้าวจ้าว (Rice flour) 20 บาท

- แป้งสาลี (wheat flour) 20 บาท
2. ค่าวัสดุทำดินกระดาษ
- ดินสอพอง (white clay filler) 20 บาท
- แป้งข้าวโพด (Corn Flour) 30 บาท
- น้ำมันมะกอก (Olive Oil) 60 บาท
- สีผสมอาหาร 20 บาท
- สารกันบูด (preservative) 10 บาท
- แลคเกอร์สำหรับเคลือบเงา 60 บาท
3. ค่าวัสดุอื่น 100 บาท
(หมายเหตุ ขออนุมัติถัวจ่ายทุกรายการ)

ประเมินผล
1. แบบประเมินโครงการของผู้บริหาร

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน
2. เด็กเห็นคุณค่าและความสำคัญ รวมทั้งรู้จักรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3. ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
4. ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ครู และผู้ปกครอง


ภาพกิจกรรม





ภาพที่ 1 เด็กและครูร่วมกันฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นชิ้นเล็กเพื่อนำไปแช่น้ำให้เปื่อย เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็กในการฉีกกระดาษเป็นชิ้นเล็กๆ รู้จักทำงานร่วมกันกับผู้อื่น









ภาพที่ 2 ครูผสมส่วนผสมทำดินกระดาษ โดยเด็กมีส่วนร่วมในการนวด เด็กเรียนรู้คุณสมบัติของดินกระดาษที่มีลักษณะเหนียว สามารถนำไปปั้นเป็นรูปร่างได้ รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นได้










ภาพที่ 3 ครูผสมส่วนผสมทำดินกระดาษ โดยเด็กมีส่วนร่วมในการนวด เด็กเรียนรู้คุณสมบัติของดินกระดาษที่มีลักษณะเหนียว สามารถนำไปปั่นเป็นรูปร่างได้ รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นได้







ภาพที่ 4 ตัวอย่างผลงานเด็ก เด็กสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการ โดยผลงานมีลักษณะแบน เพราะเด็กอายุ 3 ขวบ พัฒนาการการปั้นอยู่ในขั้นกดให้แบน คลึงให้กลม เนื่องจากกล้ามเนื้อมือเด็กยังไม่แข็งแรง และการปั้นดินกระดาษช่วยส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อมือและตาให้ทำงานประสานสัมพันธ์กัน และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์









ภาพที่ 5 ครูนำผลงานเด็กและครูที่ทำร่วมกันมาจัดแสดงให้เพื่อนๆ พี่ๆ ห้องอื่น และผู้ปกครองมาชมผลงาน เพื่อส่งเสริมให้เด็กรู้จักชื่นชมผลงานของตนเองและผู้อื่น และส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็ก

1 comment:

NITTAYA said...

ภาพกิจกรรมชัดเจนและเนื้อหาก็ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้